มด – แมลงตัวน้อยที่บุกจู่โจมที่อยู่อาศัยเราแบบเงียบๆ

ถ้าหากกล่าวถึงแมลงที่มักเข้ามาในพื้นที่อยู่อาศัย หรือทำงานของเรา มดน่าจะเป็นแมลงที่เข้าออกบ่อยที่สุด มดมีมากมายหลายชนิดโดยทั่วโลกพบมดที่จัดจำแนกชนิดแล้วถึง 15,000 ชนิด และในประเทศไทย มีรายงานว่าพบมดทั้งหมด 512 ชนิด แต่ละชนิดจะมีความแตกต่างกันทั้งที่ตั้งของรัง นิสัย ลักษณะ รวมถึงอาหารที่กินก็จะแตกต่างกัน

มดจะอาศัยรวมกันอยู่จำนวนมากเป็นสังคม ซึ่งประกอบไปด้วย

– มดราชินี เป็นมดเพศเมีย ทำหน้าที่สืบพันธุ์และวางไข่
– มดเพศผู้ ทำหน้าที่ผสมพันธุ์ ซึ่งจะพบเป็นจำนวนน้อยในแต่ละรัง
– มดงาน เป็นมดที่ออกหาอาหาร สร้างรัง ป้องกันและรักษารัง ดูแลตัวอ่อนและราชินี

มดงานจึงมักเป็นปัญหาต่อมนุษย์เรา เนื่องจากมดงานจะออกเดินทางเพื่อหาอาหาร จนบางครั้งสามารถทำลายอาหารหรือสิ่งของของมนุษย์ได้ หรือแม้กระทั่งทำอันตรายต่อมนุษย์โดยตรงจากการกัด

การจำแนกมด

ให้ทำการสำรวจเพื่อทราบขอบเขตของมดในพื้นที่ที่ต้องการจัดการ และเพื่อทราบถึงชนิดของมด การจำแนกชนิดของมดมีความจำเป็นอย่างยิ่งในการเลือกใช้เหยื่อที่เหมาะสมให้มีประสิทธิภาพที่สุด

การจัดการมด

การจัดการมดให้ได้ผลในระยะยาวนั้น จะต้องจัดการให้ได้ถึงรัง ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะรังของมดมักตั้งอยู่ในพื้นที่ที่เข้าถึงได้ยาก

การใช้เหยื่อกำจัดมดจึงเป็นวิธีการที่มีประสิทธิภาพมากที่สุด เพราะมดงานจะนำเหยื่อกำจัดมดกลับไปยังรังและแจกจ่ายไปสู่สมาชิกอื่นในรังทั้งหมด ในขณะที่การฉีดพ่นสารเคมีสามารถใช้เป็นเพียงแนวป้องกันรอบๆ พื้นที่ซึ่งทำให้มดไม่ต้องการจะเดินผ่านเท่านั้น